วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

สามก๊ก


สามก๊ก สามก๊กแต่งขึ้นประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในสมัยราชวงศ์หยวน โดย หลอกว้านจง กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) โดยเริ่มปูที่มาที่ไปตั้งแต่ยุคโจรโพกผ้าเหลือง (ค.ศ.183) เนื้อเรื่องเน้นการชิงอำนาจในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ของก๊กต่างๆ อันประกอบด้วยวุยก๊ก (เว่ย์ ) จ๊กก๊ก (ฉู่) และง่อก๊ก (หวู) จนไปถึงการสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยนหลานชายของสุมาอี้ (บุตรชายของสุมาเจียว) สามก๊กเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับไซอิ๋ว ซ้องกั๋ง และความฝันในหอแดง บางคนบอกว่าสามก๊กเป็น บทเรียนตำราพิชัยสงคราม ภาคปฏิบัติ
สามก๊กฉบับต้นฉบับนั้น แต่งขึ้นโดย "เฉินโซ่ว" ชาวเสฉวนที่มีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊กจริงๆ แต่เกิดไม่ทันฉากสำคัญหลายฉาก เขาเกิดหลังพระเจ้าเหี้ยนเต้ตกบัลลังก์ไปแล้ว ตระกูลของเขานั้นทำงานเป็นบริวารให้จ๊กก๊กของเล่าปี่ รวมทั้งตัวเขาด้วย แต่พ่อเขาบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของทั้งสามก๊กไว้อย่างละเอียดและเป็นจริง
ค.ศ. 264 แผ่นดินจ๊กก๊กที่เขาอยู่ประกาศยอมแพ้ต่อวุยก๊ก เฉินโซ่วและครอบครัว และชาวจ๊กก๊กอื่นๆ จึงถูกนำตัวไปที่วุยก๊ก ขณะนั้นสุมาเจียว อ๋องแห่งวุยก๊ก เสียชีวิตลง สุมาเอี๋ยนขึ้นเป็นวุยอ๋องแห่งวุยก๊กแทนแทน
ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยน ขับพระเจ้าโจฮวน ออกจากราชบัลลังก์และสถาปนาตนเป็นพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์ใหม่ ราชวงศ์จิ้นตะวันตก และสามารถรวบรวมสามก๊กเป็นหนึ่งเดียวได้ พระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ทรงโปรดให้เฉินโซ่ว รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงศึกสามก๊กอย่างละเอียด ตั้งแต่ช่วงจุดเริ่มต้นกบฏโพกผ้าเหลืองใน ค.ศ. 183 จนถึงพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 265 อย่างละเอียด เพื่อเอากลศึกต่างๆ ที่เกิดในยุคนี้ให้เป็นตำราสงครามให้แก่คนรุ่นหลัง สามก๊กฉบับแรกนี้มีชื่อว่า "ซานกว๋อจื้อ" แต่ซานกว๋อจื้อก็ไม่ได้รับความนิยม
ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1330 - ค.ศ. 1400 หลอกว้านจง ก็ได้นำซานกว๋อจื้อมาแต่งใหม่ในรูปแบบนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ โดยเนื้อเรื่องนำมาจากซานกว๋อจื้อบ้างและแต่งเพิ่มเองบ้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับซานกว๋อจื้อนั้น พบว่ามาจากซานกว๋อจื้อ ร้อยละ 70 และแต่งเอง ร้อยละ 30 โดยประมาณ เรื่องราวที่หลอกว้านจงได้แต่งเพิ่มขึ้นเองที่เด่นๆนั้น มีหลายจุด ซึ่งผู้ที่จำเนื้อเรื่องของสามก๊กได้ทั้งเรื่องควรรู้ เช่น
จุดแรก จุดเริ่มต้นของเรื่อง ฉากที่ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ได้กรีดเลือดสาบานเป็นพี่น้องกันนั้น สมัยนั้นยังไม่มีประเพณีการสาบานเป็นพี่น้องกันแบบนี้ มีเพียงการดื่มเลือดสาบานของเหล่าบ่าวรับใช้ว่าจะจงรักภักดีต่อนายเท่านั้น การดื่มเลือดสาบานเป็นพี่น้องนั้นมาจากลัทธิหมิงเจี้ยว ที่เพิ่งเกิดขึ้นและโด่งดังมากในช่วงชีวิตของหลอกว้านจง และหลอกว้านจงได้นำลัทธิหมิงเจี้ยวนี้เอง มาใส่ลงวรรณกรรมสามก๊กของตน และในซานกว๋อจื้อของเฉินโซ่วก็ไม่ได้กล่าวว่ามีการดื่มเลือดสาบานระหว่างเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยแต่อย่างใด
อีกจุดหนึ่งที่เด่นๆ คือ จุดที่กล่าวว่า ขงเบ้งตอนจนตรอกถูกสุมาอี้ยกทัพมากว่าแสนคนจะมายึดเมืองเสเสีย ขณะที่ตนมีเพียงทหารที่ไม่ชำนาญศึกเพียงห้าพันนาย ขงเบ้งจึงเปิดประตูเมืองทุกบาน ให้ทหารปลอมเป็นชาวเมืองและทำกิริยาเหมือนเป็นชาวบ้านกำลังทำกิจวัตรตามปกติ ส่วนขงเบ้งก็ไปนั่งดีดพิณบนกำแพงเมืองอย่างสบายใจ เมื่อสุมาอี้มาถึงเห็นว่าชาวเมืองและขงเบ้งไม่มีอาการตกใจหรือลนลาน ขงเบ้งคงเตรียมการรับมือไว้อย่างดีแล้วกระมัง เราคงสู้ขงเบ้งไม่ได้ สุมาอี้จึงถอยทัพไปเอง จุดที่กล่าวมานี้ไม่มีในซานกว๋อจื้อ แต่หลอกว้านจง นำประวัติศาสตร์จากยุคจิ๋นซีฮ่องเต้มา โดยมีเรื่องราวว่า ในสมัยนั้นจีนก็แตกเป็นแคว้นๆ ดังเช่นยุคสามก๊ก และมีช่วงหนึ่ง รัฐฉู่ยกทัพมาจะรบรับรัฐเจิ้ง รัฐเจิ้งอ่อนแอกว่ารัฐฉู่อย่างเห็นได้ชัด แต่แม่ทัพใหญ่แห่งรัฐเจิ้งได้หลอกชาวเมืองว่ารัฐฉู่มาค้าขายไม่ใช่มารบ ชาวเมืองจึงเชื่อสนิทยกข้าวของมาค้าขายนอกกำแพงรัฐอย่างเอิกเกริก เมื่อทัพฉู่มาถึงก็ตกใจว่าทำไมรัฐเจิ้งไม่ตกใจลนลานกลับทำทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่จะเป็นกลลวงหรือเปล่า บุกเข้าไปเราคงตายหมดแน่ ทัพฉู่จึงถอยทัพ
หลอกว้านจงจึงนำเรื่องราวนี้มาแต่งเพิ่มลงในสามก๊กฉบับของตน และหลอกว้านจงยังมีการแต่งเพิ่ม หรือดัดแปลงเนื้อเรื่องจากซานกว๋อจื้ออีกหลายจุด เมื่อหลอกว้านจงแต่งเสร็จ สามก๊กของหลอกว้านจงก็เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ฉบับภาษาไทยมีหลายสำนวนแปล ที่โด่งดังคือฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง และยาขอบ
วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นสุดยอดวรรณกรรมชิ้นหนึ่งของโลกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: